พายุ
พายุ คือ สภาพบรรยากาศที่ถูกรบกวนแบบใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อพื้นผิวโลก และบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่รุนแรง เวลากล่าวถึงความรุนแรงของพายุ จะมีเนื้อหาสำคัญอยู่บางประการคือ ความเร็วที่ศูนย์กลาง ซึ่งอาจสูงถึง 400 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วของการเคลื่อนตัวทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และขนาดความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวพายุ ซึ่งบอกถึงอาณาบริเวณที่จะได้รับความเสียหายว่าครอบคลุมเท่าใด ความรุนแรงของพายุจะมีหน่วยวัดความรุนแรงคล้ายหน่วยริกเตอร์ของการวัดความรุนแรงแผ่นดินไหว มักจะมีความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
พายุแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ
พายุฝนฟ้าคะนอง มีลักษณะเป็นลมพัดย้อนไปมา หรือพัดเคลื่อนตัวไปในทิศทางเดียวกัน อาจเกิดจากพายุที่อ่อนตัวและลดความรุนแรงของลมลง หรือเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำ ร่องความกดอากาศต่ำ อาจไม่มีทิศทางที่แน่นอน หากสภาพการณ์แวดล้อมต่าง ๆ ของการเกิดฝนเหมาะสม ก็จะเกิดฝนตก มีลมพัด
พายุหมุนเขตร้อน (Tropical cyclone) ได้แก่ เฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่น และไซโคลน ซึ่งล้วนเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน และจะเกิดขึ้นหรือเริ่มต้นก่อตัวในทะเล หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะมีทิศทางการหมุนเวียนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา โดยมีชื่อต่างกันตามสถานที่เกิด คือ
- พายุเฮอร์ริแคน (hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น บริเวณฟลอริดา สหรัฐอเมริกา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริบเบียน เป็นต้น รวมทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก
- พายุไต้ฝุ่น (typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น บริเวณทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย ประเทศญี่ปุ่น แต่ถ้าเกิดในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เรียกว่า บาเกียว (Baguio)
- พายุไซโคลน (cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียเหนือ เช่น บริเวณอ่าว เบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น แต่ถ้าพายุนี้เกิดบริเวณทะเลติมอร์และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศออสเตรเลีย จะเรียกว่า พายุวิลลี-วิลลี (willy-willy)
- พายุโซนร้อน (tropical storm) เกิดขึ้นเมื่อพายุเขตร้อนขนาดใหญ่อ่อนกำลังลง ขณะเคลื่อนตัวในทะเล และความเร็วที่จุดศูนย์กลางลดลงเมื่อเคลื่อนเข้าหาฝั่ง
- พายุดีเปรสชัน (depression) เกิดขึ้นเมื่อความเร็วลดลงจากพายุโซนร้อน ซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองธรรมดาหรือฝนตกหนัก
- พายุทอร์นาโด (tornado) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดในทวีปอเมริกา มีขนาดเนื้อที่เล็กหรือเส้นผ่าศูนย์กลางน้อย แต่หมุนด้วยความเร็วสูง หรือความเร็วที่จุดศูนย์กลางสูงมากกว่าพายุหมุนอื่น ๆ ก่อความเสียหายได้รุนแรงในบริเวณที่พัดผ่าน เกิดได้ทั้งบนบก และในทะเล หากเกิดในทะเล จะเรียกว่า นาคเล่นน้ำ (water spout) บางครั้งอาจเกิดจากกลุ่มเมฆบนท้องฟ้า แต่หมุนตัวยื่นลงมาจากท้องฟ้าไม่ถึงพื้นดิน มีรูปร่างเหมือนงวงช้าง จึงเรียกกันว่า ลมงวง
1. ความรุนแรงและอันตรายอันเกิดจากพายุไต้ฝุ่น เมื่อพายุที่มีกำลังขนาดไต้ฝุ่น พัดผ่านที่ใดย่อมทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทั่วไป เช่น บนบกต้นไม้จะล้ม ถอนราก ถอนโคน บ้านเรือนพังทับผู้คนในบ้านและที่ใกล้เคียงบาดเจ็บหรือตาย เรือกสวน ไร่นาเสียหายหนักมาก เสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าขาด ไฟฟ้าช็อต เกิดเพลิงไหม้และผู้คนอาจเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดได้ ผู้คนที่มีอาคารพักอาศัยอยู่ริมทะเลอาจถูกน้ำพัดพาลงทะเลจมน้ำตายได้ ดังเช่น ปรากฎการณ์ที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช
ในทะเลลมแรงจัดมากคลื่นใหญ่ เรือขนาดใหญ่ ขนาดหมื่นตันอาจจะถูกพัดพาไปเกยฝั่งล่มจมได้ บรรดาเรือเล็กจะเกิดอันตรายเรือล่ม ไม่สามารถจะต้านความรุนแรงของพายุได้ คลื่นใหญ่ซัดขึ้นริมฝั่งจะทำให้ระดับน้ำขึ้นสูงมากจนท่วมอาคารบ้านช่องริมทะเลได้ บรรดาโป๊ะจับปลาในทะเลจะถูกทำลายลงโดยคลื่นและลม
2. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุโซนร้อน พายุโซนร้อนมีความรุนแรงน้อยกว่าพายุไต้ฝุ่น ฉะนั้น อันตรายจะเกิดจากการที่พายุนี้พัดมาปะทะลดลงในระดับรองลงมาจากพายุไต้ฝุ่น แต่ความรุนแรงที่จะทำให้ความเสียหายก็ยังมีมากเหมือนกัน ในทะเลลมจะแรงมากจนสามารถทำให้เรือขนาดใหญ่ ๆ จมได้ ต้นไม้ถอนรากถอนโคน ดังพายุโซนร้อนที่ปะทะฝั่งแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช
ถ้าการเตรียมการรับสถานการณ์ไม่เพียงพอ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบเพื่อหลีกเลี่ยงภัยอันตรายอย่างทั่วถึง ไม่มีวิธีการดำเนินการที่เข้มแข็งในการอพยพ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่าง ๆ ในระหว่างเกิดพายุ การสูญเสียก็ย่อมมีการเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สมบัติของประชาชน
3. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุดีเปรสชั่น พายุดีเปรสชั่นเป็นพายุที่มีกำลังอ่อน ไม่มีอันตรายรุนแรงแต่ทำให้มีฝนตกปานกลางทั่วไป ตลอดทางที่พายุดีเปรสชั่นพัดผ่าน และมีฝนตกหนักเป็นแห่ง ๆ พร้อมด้วยลมกรรโชกแรงเป็นครั้งคราว ซึ่งบางคราวจะรุนแรงจนทำให้เกิดความเสียหายได้ ในทะเลค่อนข้างแรงและคลื่นจัด บรรดาเรือประมงเล็กขนาดต่ำกว่า 50 ตัน ควรงดเว้นออกทะเลเพราะอาจจะล่มลงได้ และพายุดีเปรสชั่นนี้เมื่ออยู่ในทะเลได้รับไ อน้ำ หล่อเลี้ยงตลอดเวลา และไม่มีสิ่งกีดขวางทางลมอาจจะทวีกำลังขึ้นได้ โดยฉับพลัน ฉะนั้น เมื่อได้รับทราบข่าวว่ามีพายุดีเปรสชั่นขึ้นในทะเลก็อย่าวางใจว่าจะมีกำลังอ่อนเสมอไปอาจจะมีอันตรายได้เหมือนกัน สำหรับพายุพัดจัดจะลดน้อยลงเป็นลำดับ มีแต่ฝนตกทั่วไปเป็นระยะนาน ๆ และตกได้มากถึง 100 มิลลิเมตร ภายใน 12 ชั่วโมง ซึ่งต่อไปก็จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลบ่าจากภูเขาและป่าใกล้เคียงลงมาท่วมบ้านเรือนได้ในระยะเวลาสั้น ๆ หลังจากพายุได้ผ่านไปแล้ว
4. ความรุนแรงและอันตรายจากพายุฤดูร้อน พายุฤดูร้อนเป็นพายุที่เกิดขึ้นโดยเหตุและวิธีการต่างกับพายุดีเปรสชั่น และเกิดบนผืนแผ่นดินที่ร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนแต่เป็นพายุที่มีบริเวณย่อม ๆ มีอาณาเขตเพียง 20-30 ตารางกิโลเมตร แต่อาจมีลมแรงมากถึง 47 น็อต หรือ 87 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้มีกำลังแรงที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้มาก แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2-3 ชั่วโมง อันตรายที่เกิดขึ้นคือ ต้นไม้หักล้มทับบ้านเรือนผู้คน บ้านเรือน ฝนตกหนักและอาจมีลูกเห็บตกได้ ในกรณีที่พายุมีกำลังแรง
การเตรียมการป้องกันอันตรายจากพายุ
1. ติดตามสภาวะอากาศ ฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาสม่ำเสมอ
2. สอบถาม แจ้งสภาวะอากาศร้อนแก่กรมอุตุนิยมวิทยา
3. ปลูกสร้าง ซ่อมแซม อาคารให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร
4. ฝึกซ้อมการป้องกันภัยพิบัติ เตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนอพยพหากจำเป็น
5. เตรียมเครื่องอุปโภค บริโภค ไฟฉาย แบตเตอรี่ วิทยุกระเป๋าหิ้วเพื่อติตามข่าวสาร
6. เตรียมพร้อมอพยพเมื่อได้รับแจ้งให้อพยพ
น้ำท่วม
สาเหตุสำคัญขึ้นอยู่กับสภาพท้องที่ และความวิปริตผันแปรของธรรมชาติแต่ในบางท้องที่ การกระทำของมนุษย์ก็มีส่วนสำคัญ และ เกิดจากมีน้ำเป็นสาเหตุ อาจจะเป็นน้ำท่วม น้ำป่าหรืออื่น ๆ โดยปกติ อุทกภัยเกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน บางครั้งทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม อาจมีสาเหตุจากพายุหมุนเขตร้อน ลมมรสุมมีกำลังแรง ร่องความกดอากาศต่ำมีกำลังแรงอากาศแปรปรวน น้ำทะเลหนุน แผ่นดินไหว เขื่อนพังซึ่งทำให้เกิดอุทกภัยได้ สาเหตุการเกิดอุทกภัยแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้
- จากน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน เกิดจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ดินดูดซับไม่ทัน น้ำฝนไหลลงพื้นราบอย่างรวดเร็ว ความแรงของน้ำทำลายต้นไม้ อาคาร ถนน สะพาน ชีวิต ทรัพย์สิน
- จากน้ำท่วมขังและน้ำเอ่อนอง เกิดจากน้ำในแม่น้ำ ลำธารล้นตลิ่ง มีระดับสูงจากปกติ ท่วมและแช่ขัง ทำให้การคมนาคมชะงัก เกิดโรคระบาด ทำลายสาธารณูปโภค และพืชผลการเกษตร
- ติดตามสภาวะอากาศ ฟังคำเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา
- ฝึกซ้อมการป้องกันภัยพิบัติ เตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนอพยพหากจำเป็น
- เตรียมน้ำดื่ม เครื่องอุปโภค บริโภค ไฟฉาย แบตเตอรี่ วิทยุกระเป๋าหิ้วเพื่อติดตามข่าวสาร
- ซ่อมแซมอาคารให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร
- เตรียมพร้อมเสมอเมื่อได้รับแจ้งให้อพยพไปที่สูง เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และฝนตกหนัก ต่อเนื่อง
- ไม่ลงเล่นน้ำ ไม่ขับรถผ่านน้ำหลากแม้อยู่บนถนน ถ้าอยู่ใกล้น้ำ เตรียมเรือเพื่อการคมนาคม
- หากอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ป้องกันโรคระบาด ระวังเรื่องน้ำและอาหารต้องสุก และสะอาด ก่อนบริโภค
แผ่นดินไหว
เป็นปรากฎการณ์ การสั่นสะเทือนหรือเขย่าของพื้นผิวโลก สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวนั้นส่วนใหญ่เกิดจากธรรมชาติ โดยแผ่นดินไหวบางลักษณะสามารถเกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้เช่น การทดลองระเบิดปรมาณู การปรับสมดุลเนื่องจากน้ำหนักของน้ำที่กักเก็บในเขื่อนและแรงระเบิดการทำเหมืองแร่เป็นต้น
การปฏิบัติป้องกันตัวเองจากการเกิดแผ่นดินไหว
ก่อนเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน และให้ทุกคนทราบว่าอยู่ที่ไหน
2. ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
3. ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น
4. ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้าสำหรับตัดกระแสไฟฟ้า
5. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้น หรือหิ้งสูง ๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมากเป็นอันตรายได้
6. ผูกเครื่องใช้หนัก ๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
7. ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมาย ในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกัน เพื่อมารวมกันอีกครั้งในภายหลัง
ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว
- อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบ
- ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืนหรือหมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรงที่สามารถรับน้ำหนักได้มาก และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง
- หากอยู่ในอาคารสูง ควรตั้งสติ และรีบออกจากอาคารโดยเร็วหนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้
- ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ ที่ปลอดภัยภายนอกคือที่ โล่งแจ้ง
- อย่าใช้ เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลวหรือประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น
- ถ้ากำลังขับรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด
- ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว
- หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง
- ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลขั้นต้นก่อน
- ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมา อาคารอาจพังทลายได้
- ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้ว หรือวัสดุแหลมคมอื่น ๆ และสิ่งหักพังทิ่มแทงได้
- ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ หรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
- ตรวจสอบว่า แก๊สรั่ว ด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน
- ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง
- เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์ นอกจากจำเป็นจริง ๆ
- สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้
- อย่าเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง หรืออาคารพัง
ปรากฎการณ์เรือนกระจก
คำว่า เรือนกระจก (greenhouse) หมายถึง อาณาบริเวณที่ปิดล้อมด้วยกระจกหรือวัสดุอื่นซึ่งมีผลในการเก็บกักความร้อนไว้ภายใน ในประเทศเขตหนาวนิยมใช้เรือนกระจกในการเพาะปลูกต้นไม้เพราะพลังงานแสงอาทิตย์สามารถผ่านเข้าไปภายในได้แต่ความร้อนที่อยู่ภายในจะถูกกักเก็บ โดยกระจกไม่ให้สะท้อนหรือแผ่ออกสู่ภายนอกได้ทำให้อุณหภูมิของอากาศภายในอบอุ่น และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแตกต่างจากภายนอกที่ยังหนาวเย็น นักวิทยาศาสตร์จึงเปรียบเทียบปรากฏการณ์ที่ความร้อนภายในโลกถูกกับดักความร้อนหรือก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) เก็บกักเอาไว้ไม่ให้สะท้อนหรือแผ่ออกสู่ภายนอกโลกว่าปรากฏการณ์เรือนกระจก
โลกของเราตามปกติมีกลไกควบคุมภูมิอากาศโดยธรรมชาติอยู่แล้ว กระจกตามธรรมชาติของโลก คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำซี่งจะคอยควบคุมให้อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยมีค่าประมาณ 15 °C และถ้าหากในบรรยากาศไม่มีกระจกตามธรรมชาติอุณหภูมิของโลกจะลดลงเหลือเพียง -20°C มนุษย์และพืชก็จะล้มตายและโลกก็จะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งหนึ่ง
สาเหตุสำคัญของการเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกมากจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกประเภทต่าง ๆ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ไอน้ำ (H2O) โอโซน (O3) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ในส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเกิดการหมุนเวียนและรักษาสมดุลตามธรรมชาติ ปัญหาในเรื่องปรากฎการณ์เรือนกระจกจะไม่ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อมนุษย์ชาติโดยเด็ดขาด
แต่ปัญหาที่โลกของสิ่งมีชีวิตกำลังประสบอยู่ในปัจจุบันก็คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อยู่ในบรรยากาศเกิดการสูญเสียสมดุลขึ้น ปริมาณความเข้มของก๊าซเรือนกระจกบางตัว เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์และคลอโรฟลูออโรคาร์บอนกลับเพิ่มปริมาณมากขึ้น นับตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (industrial revolution) หรือประมาณปี พ .ศ . 2493 เป็นต้นมา
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกมีดังนี้คือ 57% เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ) 17% เกิดจากการใช้สาร คลอโรฟลูออโรคาร์บอน 15% เกิดจากการผลิตในภาคเกษตรกรรม 8% เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนอีก 3% เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ติดตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันทันสมัย เช่น การใช้ดาวเทียมสำรวจอากาศและสามารถสรุปเป็นตัวเลขออกมาได้ว่าในแต่ละปีสัดส่วนของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกจากโลกมีสัดส่วนที่แตกต่างกันดังนี้ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ 49% อันดับสามได้แก่ มีเทน 18% และอันดับสุดท้ายได้แก่ ไนตรัสออกไซด์ 6% (ตารางที่ 1) แต่ถ้าเทียบกันในระดับโมเลกุล ต่อโมเลกุลแว คาร์บอนไดออกไซด์จะมีผลต่อการตอบสนองในการเก็บกักความร้อนน้อยกว่าก๊าซ 3 ตัวหลังอย่างมาก แต่เนื่องจากปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกร รมต่าง ๆ ของมนุษย์มีมากที่สุด ดังนั้น หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาจึงต้องมุ่งประเด็นตรงไปที่การลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ฟอสซิลก่อนเป็นอันดับแรก ต่อจากนั้นจึงค่อยลดและเลิกการใช้คลอโรฟลูออโรคาร์บอนรวมถึงการควบคุมปริมาณของมีเทนและไนตรัสออกไซด์ที่จะปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศ
ผลกระทบต่อมนุษย์ชาติจากการเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก
จากการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นถึงแม้การเพิ่มสูงขึ้นจะแสดงออกมาเป็นตัวเลขเพียงเล็กน้อย แต่อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อโลกของสิ่งมีชีวิต เพราะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกดังที่เกิดขึ้นในปัจจุบันทำให้ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิบริเวณเส้นศูนย์สูตรกับบริเวณขั้วโลกลดน้อยลงทำให้เกิดความผันผวนขึ้นในอุณหภูมิอากาศของโลก เช่น แนวปะทะระหว่างอากาศร้อนกับอากาศเย็นของลมเปลี่ยนไปอย่างมากเกิดสภาวะความกดอากาศต่ำมากขึ้นทำให้มีลมมรสุมพัดแรง เกิดลมพายุชนิดต่าง ๆ เช่น พายุโซนร้อน ใต้ฝุ่น ดีเปรสชั่นและทอร์นาโดขึ้นบ่อย ๆ หรืออาจเกิดฝนตกหนักผิดพื้นที่สมดุลทางธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดภัยธรรมชาติ เช่น ดินถูกน้ำเซาะพังทลายหรือเกิดอุทกภัยเฉียบพลัน เป็นต้น
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังมีความเชื่อว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงมาจะทำให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย น้ำในทะเลและมหาสมุทรจะเพิ่มปริมาณและท่วมท้นทำให้เกาะบางแห่งจมหายไป เมืองที่อยู่ใกล้ชายทะเลหรือมีระดับพื้นที่ต่ำเช่น กรุงเทพฯ จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นและถ้าน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอีกสามเมตรหรือมากกว่านั้น ซึ่งหมายถึงอุทกภัยครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในโลกอย่างแน่นอน จากเอกสารของโครงการสิ่งแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติได้ประมาณการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้น 2 ถึง 4°C และระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น 20-50 เซนติเมตร ในระยะเวลาอีก 10 – 50 ปีนับจากปัจจุบัน
มาตรการป้องกันผลกระทบจากการเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก
หลักจากที่เราได้ทราบมูลเหตุแห่งการเกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกแล้ว ข้อสรุปที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา คือ การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศให้อยู่ในสัดส่วน และปริมาณที่น้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ การรักษาระดับความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศที่ทั่วโลกกำกลังปฏิบัติมีหลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น มาตรการของ IPCC (The intergovemental Panel on Climate Change) ซึ่งประมาณการณ์เอาไว้ว่าการรักษาระดับความหนาแน่นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้อยู่ในระดับเดียวกับปัจจุบันจะต้องลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการกระทำของมนุษย์ให้ต่ำลงจากเดิม 6% และได้เสนอมาตรการต่าง ๆ ดังนี้
- ส่งเสริมการสงวนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดดังจะยกตัวอย่างในบ้านเมืองของเราก็เช่น การใช้เครื่องไฟฟ้าที่มีสลากประหยัดไฟ หรือการเลือกใช้หลอด ฟลูออเรสเซนต์ ชนิดหลอดผอมเป็นต้น
- หามาตรการในการลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น กำหนดนโยบายผู้ทำให้เกิดมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำบัด ในบางประเทศมีการกำหนดให้มีการเก็บภาษีผู้ที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้น ทั้งนี้จะส่งผลต่อการประหยัดพลังงานของประเทศทางอ้อมด้วย
- เลิกการผลิตและการใช้คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) รวมทั้งค้นหาสารอื่นมาทดแทนคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ในบางประเทศกำหนดให้ใช้ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน(HFCs) แทน สำหรับประเทศไทยของเรามีการส่งเสริมการสร้างค่านิยมในการใช้สเปร์ย และอุปกรณ์ที่อยู่ในประเภทที่ปราศจากคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Nom-CFCs) เป็นต้น
- หันมาใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับค่าพลังงานที่ได้ เช่น การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครจะช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากการขนส่งมวลชนในแต่ละวันได้อย่างดีและประสิทธิภาพที่สุด
- สนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับแหล่งพลังงานทดแทนอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานนิวเคลียร์ให้เกิดเป็นรูปธรรมและได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนว่าจะไม่ก่อให้เกิดมหันตภัยมวลมนุษย์ชาติดังที่เกิดขึ้นในเชอร์โนบิวล์
- หยุดยั้งการทำลายป่าไม้และสนับสนุนการปลูกป่าทดแทน สำหรับในประเทศไทยการรณรงค์ในเรื่องการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรตินับเป็นโครงการที่น่าสนับสนุนอย่างสูง
ภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อน หมายถึง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น เราจึงเรียกว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming) กิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนคือ กิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ การเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยตรง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิง และการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยทางอ้อม คือ การตัดไม้ทำลายป่า
หากไม่มีการช่วยกันแก้ไขปัญหาโลกในวันนี้ ในอนาคตจะส่งผลกระทบดังนี้
- ทำให้ฤดูกาลของฝนเปลี่ยนแปลงไป กระบวนการระเหยและการกลั่นตัวจะเร็วขึ้น หมายถึงว่า ฝนอาจจะตกบ่อยขึ้น แต่น้ำจะระเหยเร็วขึ้นด้วย ทำให้ดินแห้งเร็วกว่าปกติในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก
- ผลผลิตทางการเกษตรจะลดลง นอกจากผลกระทบโดยตรงจากอุณหภูมิฝน ช่วงระยะเวลาฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว ยังเกิดจากผลกระทบทางอ้อมอีกด้วย คือ การระบาดของโรคพืช ศัตรูพืชและวัชพืช
- สัตว์น้ำจะอพยพไปตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเล แหล่งประมงที่สำคัญ ๆ ของโลกจะเปลี่ยนแปลงไป
- มนุษย์จะเสียชีวิตเนื่องจากความร้อนมากขึ้น ตัวนำเชื้อโรคในเขตร้อนเพิ่มมากขึ้น ปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศภายในเมืองจะรุนแรงมากขึ้น
- ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น แอร์ เครื่องปรับอากาศ พัดลม หากเป็นไปได้ใช้วิธี เปิดหน้าต่าง ซึ่งบางช่วงที่อากาศดี ๆ สามารถทำได้ เช่น หลังฝนตก หรือช่วงอากาศเย็น เป็นการลดค่าไฟ และ ลดความร้อน เนื่องจากหลักการทำความเย็นนั้นคือ การถ่ายเทความร้อนออก ดังนั้นเวลาเราใช้แอร์ จะเกิดปริมาณความร้อนบริเวณหลังเครื่องระบายความร้อน
- เลือกใช้ระบบขนส่งมวลชน ในกรณีที่สามารถทำได้ ได้แก่ รถไฟฟ้า รถตู้ รถเมล์ เนื่องจากพาหนะแต่ละคัน จะเกิดการเผาผลาญเชื้อเพลิง ซึ่งจะเกิดความร้อน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นเมื่อลดปริมาณจำนวนรถ ก็จะลดจำนวนการเผ่าไหม้บนท้องถนน ในแต่ละวันลงได้
- เวลาเดินเข้าห้างสรรพสินค้า หากมีคนเปิดประตูทิ้งไว้ ให้ช่วยปิดด้วยเนื่องจากห้างสรรพสินค้าแต่ละห้างนั้นมีพื้นที่มาก กว่าจะทำให้เกิดความเย็นได้ ก็จะก่อให้เกิดความร้อนปริมาณมาก ดังนั้นเมือมีคนเปิดประตูทิ้งไว้ แอร์ก็จะยิ่งทำงานมากขึ้นเพื่อให้ได้ความเย็นตามที่ระบุไว้ในเครื่อง ซึ่งประตูที่เปิดอยู่จะนำความร้อนมาสู่ตัวห้างเครื่องก็จะทำงานวนอยู่อย่างนั้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความร้อนอีกปริมาณมากต่อสภาพภายนอก
- พยายามรับประทานอาหารให้หมด เศษอาหารที่เหลือทิ้งไว้จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งก่อให้เกิดปริมาณความร้อนต่อโลก เมื่อหลายคนรวม ๆ กันก็เป็นปริมาณความร้อนที่มาก
- ช่วยกันปลูกต้นไม้ เพราะต้นไม้จะคายความชุ่มชื้นให้กับโลก และช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุภาวะเรือนกระจก
- การชวนกันออกไปเที่ยวธรรมชาติภายนอก ก็ช่วยลดการใช้ปริมาณไฟฟ้าได้
- เวลาซื้อของพยายามไม่รับภาชนะที่เป็นโฟม หรือกรณีที่เป็นพลาสติก เช่น ขวดน้ำพยายามนำกลับมาใช้อีก เนื่องจากพลาสติกเหล่านี้ทำการย่อยสลายยาก ต้องใช้ปริมาณความร้อน เหมือนกับตอนที่ผลิตมันมา ซึ่งจะก่อให้เกิดความร้อนกับโลกของเรา เราสามารถนำกลับมาใช้เป็นภาชนะใส่น้ำแทนกระติกน้ำ หรือใช้ปลูกต้นไม้ก็ได้
- ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ที่เคี้ยวเอื้อง เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ อุจจาระจะปล่อยก๊าซมีเทนออกมา ดังนั้นอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ประเภทนี้ เมื่อมีจำนวนมากก็จะก่อให้เกิดความร้อนกับโลกเรามาก
- ใช้กระดาษด้วยความประหยัด กระดาษแต่ละแผน ทำมาจากการตัดต้นไม้ ซึ่งเป็นเสมือนปราการสำคัญของโลกเรา ดังนั้นการใช้กระดาษแต่ละแผ่นควรใช้ให้ประหยัดทั้งด้านหน้าหลัง ใช้เสร็จควรนำมาเป็นวัสดุรอง หรือ นำมาเช็ดกระจกก็ได้ นอกจากนี้การนำกระดาษไปเผาก็จะเกิดความร้อนต่อโลกเราเช่นกัน
- ไม่สนับสนุนกิจการใด ๆ ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรของโลกเรา และควรสนับสนุนกิจการที่มีการคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม
ขอบคุณสำหรับบทความนี้ค่ะมัายาวพอที่จะเอาไปทำรายงาน thanks ✒
ตอบลบ